ความสำคัญของบาตรกับวิถีชีวิตชุมชน
ประวัติความเป็นมา และภูมิปัญญาในการปรับตัวของชุมชนบ้านบาตรให้เข้ากับบริบทปัจจุบัน
พุทธศาสนา เป็นศาสนาที่สำคัญต่อชาวไทยมาช้านาน บาตรพระถือเป็นหนึ่งในอัฐบริขาร
บาตร
ภาชนะใส่อาหารสำหรับพระภิกษุสามเณร ถือว่าเป็นของใช้ที่มีความสำคัญสำหรับสงฆ์เป็นอย่างมาก
และ เป็นหนึ่งในอัฐบริขาร 8 อย่าง ที่บัญญัติไว้ในพระธรรมวินัย
บาตร มีความสำคัญอย่างมากกับการประกอบอาชีพของผู้คนในชุมชนบ้านบาตร เพราะการทำบาตรนั้นถือเป็นอาชีพหลักของคนในชุมชนนี้มายาวนาน ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น
จากตำนานที่เล่าต่อกันมาว่าบรรพบุรุษของชาวบ้านบาตรเป็นชาวกรุงศรีอยุธยา ที่อพยพมาตั้งหมู่บ้านทำบาตรเหล็ก
ตั้งแต่คราวเสียกรุงครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 บ้านบาตรจึงเป็นชุมชนแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีการทำบาตรพระด้วยมือ
ตามแบบอย่างโบราณมาโดยตลอด
เอกลักษณ์ของบาตรพระฝีมือของชุมชนบ้านบาตรแห่งนี้คือรอยตะเข็บ 8 ชิ้นจางๆที่ปรากฏอยู่รอบบาตร
ซึ่งมีความสัมพันธ์กับพุทธประวัติที่ว่า
บาตรใบแรกของพระพุทธเจ้าคือบาตรที่ฆฏิการพรหมนำมาถวายและเกิดหายไป
ท้าวจตุมหาราช เทพผู้อภิบาลรักษาโลกประจำอยู่ในทิศทั้ง 4 จึงนำบาตรศิลามีพรรณรังสีเขียวมาถวายองค์ละ 1 ใบ พระองค์ทรงรับบาตรทั้งสี่อธิษฐานเข้าเป็นใบเดียวกัน จึงเป็นที่มาของธรรมเนียมการสร้างบาตรให้เป็นรอยประสานต่อกันเป็นตะเข็บเปรียบประหนึ่งการประสานบาตรของพระพุทธเจ้าในครั้งนั้น
ในกรุงเทพฯ จึงไม่มีที่ไหนที่จะเป็นสุดยอดของการทำบาตรเท่ากับที่ชุมชนบ้านบาตรแห่งนี้อีกแล้ว
แต่บาตรพระที่ทำด้วยมืออย่างประณีตในวันนี้กลับถูกบาตรปั๊มจากโรงงานที่ผลิตได้มาก รวดเร็ว และราคาถูกกว่าแย่งตลาดไป จึงทำให้หัตถกรรมทำบาตรพระในชุมชนลดลงเหลือเพียงแค่เป็นของที่ระลึก และรับทำตามจำนวนที่มีผู้มาสั่งเท่านั้น แต่บาตรของชุมชนบ้านบาตรก็ยังถือเป็นสินค้าคุณภาพ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปเข้าหูนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่ง ที่นี่จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเข้ามาชมบ่อย และก็มักจะซื้อบาตรพระขนาดเล็กๆ ติดไม้ติดมือไปเป็นของที่ระลึก
แม้ชุมชนบ้านบาตรในวันนี้จะยังเหลือครอบครัวที่ทำบาตรไม่กี่รายเท่านั้น แต่เสียงตีบาตรก็ยังคงดังกังวานอยู่ในชุมชน ทำให้ผู้คนที่ผ่านไปผ่านมายังรู้สึกว่า ชุมชนบ้านบาตรนี้เป็นชุมชนที่มีชีวิตอยู่ มิได้เหลือแต่เพียงชื่อเหมือนกับชุมชนอื่นๆ อีกหลายๆ แห่งในเมืองหลวงแห่งนี้
" แต่ก็น่าแปลกใจว่า ชาวต่างชาติบางคนก็เลือกเป็น โดยการลูบดูตะเข็บข้างในก้นบาตรว่าเรียบหรือขรุขระอย่างไรบ้าง บางคนก็ใช้วิธีใช้ไม้เคาะฟังเสียง เพราะบาตรทำมือนี้เมื่อเคาะแล้วจะมีเสียงกังวานเหมือนเสียงระฆัง บาตรแต่ละลูกก็จะมีเสียงไพเราะไม่เหมือนกัน บางคนก็เคาะดูว่าบาตรลูกไหนให้เสียงเพราะที่สุด แล้วก็ซื้อใบนั้นไป "


1. คนในชุมชนส่วนใหญ่นั้นมีความสัมพันธ์เชิงพี่น้อง หรือถ้าเป็นบุคคลภายนอกเข้ามาอาศัยอยู่ ก็จะสนิทสนม และอยู่ร่วมกับคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี เสมือนเป็นพี่น้องกัน ด้วยเหตุเพราะสภาพทางภูมิศาสตร์ที่มีพื้นที่จำกัดและคับแคบ ไม่สามารถขยายพื้นที่ออกไปได้อีก ทำให้สามารถเดินทางไปหากันได้อย่างสะดวก ทั่วถึง และรวดเร็ว ทำให้ชาวชุมชนบ้านบาตรรู้จักกันเป็นอย่างดี
2. ชุมชนบ้านบาตรเป็นสถานที่ที่แออัด มีขนาดเล็กและไม่มีระเบียบ ทำให้การสัญจรภายในชุมชนไม่สะดวกสำหรับพาหนะจำพวกรถยนต์ และมีความเสี่ยงในการขับขี่รถจักรยานยนต์ ดังนั้นวิธีการสัญจรที่สะดวกที่สุดภายในชุมชนแห่งนี้ จะเป็นการเดินด้วยเท้า
3. มีปัญหาความขัดแย้งภายในชุมชน อาทิเช่น ผู้ผลิตแต่ละรายพูดเข้าข้างสินค้าของตัวเอง นอกจากนี้ยังมีความคิดเห็น และแนวทางในการสืบทอดวัฒนธรรมในการสืบทอดหัตถกรรมการทำบาตรแตกต่างกัน
4. คนภายในชุมชนไม่มีการตระหนักถึง และเห็นความสำคัญของบาตรที่สร้างชื่อเสียงให้ชุมชน ว่าจะมีโอกาสสูญหายไปได้มากแต่อย่างไร
ความเป็นอยู่ของคนในชุมชนบ้านบาตร
ความสัมพันธ์กับชุมชนบริเวณรอบข้าง
มีความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนบริเวณรอบข้าง ไม่มีปัญหาความขัดแย้งอันใดต่อกัน เพราะเมื่อมีงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์ รักษาวัฒนธรรม ก็จะมีการทำงานร่วมกันเป็นประจำ ทำให้มีการทำความรู้จักกัน และมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมาตลอด
“ สิ่งที่น่าตระหนักถึง คือ ไม่มีหน่วยงานใดของภาครัฐเข้าไปดูแลอย่างจริงจังหรือถ้าทำก็ทำแบบผิวเผิน
หรือแม้แต่คนภายในชุมชนเองหรือผู้ผลิตบาตรทั้งหมดที่เหลืออยู่ ไม่มีแนวทางหรือวางแผนอย่างเป็นระบบ
สำหรับการสืบสานต่อภูมิปัญญาในการทำบาตร ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของชุมชนที่ทำให้คนภายนอกได้รู้จัก
มีเพียงความเชื่อว่าจะยังอยู่รอดต่อไปในอนาคต
น่าคิดว่า บางทีไม่ใช่เพียงกาลเวลาเท่านั้นที่พรากสิ่งที่มีคุณค่าจากเราไป
แต่บางทีอาจเป็นเพราะมนุษย์เราเองที่ละเลยและมองข้ามสิ่งที่มีคุณค่านั้นไป "