รำวงบ้านบาตร สิ่งที่น่าสนใจนอกจากบาตร
เนื้อเพลง “บ้านบาตรสามัคคี”
บ้านบาตรสามัคคี เป็นนามที่พวกเราสร้างไว้
ร่วมแรงปรับปรุงแก้ไข ผูกสัมพันธ์ไมตรี ดังพี่น้องกัน เพื่อหวังปลูกความรื่นเริง
ร่วมบันเทิงในความสัมพันธ์ ผิดพลาดอภัยให้กัน จิตเรามั่นอยู่ทุกเวลา สิ่งเดียวที่เรามุ่งหวัง
เพื่อประทังชื่อบ้านบาตรวัฒนา สร้างวงมานานหนักหนา
นามของเรามีว่า บ้านบาตรสามัคคี
*สามัคคีบ้านบาตรรำวง ร่วมใจมั่นคง สร้างรำวงไทย เพื่อหวังสำราญสุขใจ
น้อมนำฤทัย ร่วมใจสามัคคี ร่วมรักกันเหมือนน้องพี่
ผูกสัมพันธ์ไมตรีร่าเริงยินดี แสนเพลิน
ร่วมกันคิดการดำเนิน เพื่อความเพลิดเพลิน เราสู้อดทน
พวกเราชาวบ้านบาตรทุกคน ถึงจะยากจน
แต่เพียรพยายาม แก้ไขปรับปรุงวงรำ
ชาวคณะให้นาม รำวงบ้านบาตรสามัคคี
(ทวน *สามัคคี)
หากจะกล่าวถึงบ้านบาตร ผู้คนก็ต้องนึกถึงแค่การทำบาตรเพียงอย่างเดียว แต่หารู้ไม่ว่าชุมชนบ้านบาตรแห่งนี้ไม่ได้มีแต่เพียงการทำบาตรอย่างเดียวเท่านั้น สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างในชุมชนบ้านบาตรแห่งนี้คือ รำวงบ้านบาตร การละเล่นที่ช่วยปลดปล่อยความทุกข์กายทุกข์ใจของผู้คนในบ้านบาตร ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ กรุงเทพตกอยู่ในความวุ่นวาย ความบันเทิงจากมหรสพต่างๆ ต้องหยุดชะงักไป
จะเหลือก็เพียง “เพลงรำวง” ป้ากฤษณา ได้เล่าว่า “เมื่อตอนที่ป้ายังเด็กบ้านป้าใกล้กับบ้านของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ ทุกๆวันป้าจะได้ยินเสียงระนาด เสียงอังกะลุง จนผู้คนในชุมชนบ้านบาตรทำเสียงอังกะลุงได้โดยไม่มีอังกะลุง” ป้ากฤษณายังเล่าต่อว่า เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เสียงเครื่องดนตรีเหล่านี้ก็ได้เงียบไป เมื่อเสียงเครื่องดนตรีเหล่านี้เงียบไปก็ทำให้เกิดความทุกข์ ความเศร้าหมองขึ้นในชุมชน เพราะเหตุนี้คนในชุมชนจึงได้หาวิธีที่จะปลดปล่อยความทุกข์เหล่านี้ และได้เกิด รำวงบ้านบาตร ขึ้นมา เพลงที่ร้องกันในรำวงบ้านบาตรนั้น เนื้อร้องเกี่ยวกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนบ้านบาตร ในสมัยก่อนนั้นมีคณะรำวงอยู่ 3 คือ คณะรำวงสามย่าน คณะรำวงบ้านบาตร คณะรำวงไทยกึ่งเพชร
ในตอนนั้นถือว่าคณะรำวงสามย่าน วัดหัวลำโพง โด่งดังที่สุด เพราะเป็นแหล่งรวมนักร้องเสียงดี นักประพันธ์เพลงเก่งๆ และมีโอกาสบันทึกแผ่นเสียงผลงานเพลงรำวงประจำคณะเอาไว้เป็นหลักฐาน กับห้างกมลสุโกศล ตัวอย่างงานเพลงสะท้อนแนวคิดชาตินิยมที่สังคมไทยรู้จักในมุมกว้าง เช่น ศึกบางระจัน อยุธยาเมืองเก่าของเราแต่ก่อน และ ลูกชาวนา เป็นต้น ส่วนคณะรำวงบ้านบาตร ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันเท่าไหร่เพราะไม่ได้การบันทึกแผ่นเสียงผลงานเพลง เหมือนกับคณะรำวงสามย่าน แต่คณะรำวงบ้านบาตรนั้นมีลีลาการรำที่อ่อนช้อยสวยงาม และบทเพลงได้เล่าถึงวิถีชีวิตของคนในชุมชนบ้านบาตร ป้ากฤษณาได้เล่าว่า “รำวงบ้านบาตร กับ รำวงสามย่าน เป็นคู่แข่งกัน ประกวดประชันกันมาหลายเวที ทั้งเวทีงานวัดในพระนคร และงานวัดตามต่างจังหวัด ผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะ ส่วนมากรำวงบ้านบาตรจะเป็นฝ่ายชนะ”
ทั้งนี้แต่เดิมแล้ว การเล่น ร้อง รำ ของรำวงบ้านบาตรนั้น จะเริ่มขึ้นทุกเย็นหลังเลิกงาน สถานที่คือ ศาลากลางบ้าน หรือศาลาโรงธรรม แต่ถ้าเป็นช่วงเทศกาลสำคัญๆ จะชวนกันไปเล่นที่ลานกว้าง ไม่ไกลจากชุมชน คนร้อง คนเล่นดนตรี ส่วนมากจะเป็นผู้ชาย ผู้หญิงจะเป็นคนรำ สำหรับเพลงที่นำมาใช้ จะเป็นเพลงที่ชาวบ้านรุ่นก่อนช่วยกันแต่งขึ้น เนื้อหาจะเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวบ้านบาตร บ้างก็เป็นเนื้อหาแฝงคำสอนข้อคิดเตือนใจหนุ่มสาว
เพลงรำวงค่อยๆเลือนหายไปจากสังคมพร้อมกับการเข้ามาของดนตรีตามสมัยนิยม ทุกวันนี้ ป้ากฤษณา พร้อมชาวบ้านบาตรได้พยายามรื้อฟื้น และรวบรวมเพลงรำวงบ้านบาตรที่เคยคุ้นหูในสมัยเด็กขึ้นมาอีกครั้ง
ปัจจุบันสามารถรวบรวมได้แล้วกว่า ๓๐ เพลง หนึ่งในนั้น คือ “เพลงบ้านบาตรสามัคคี” เพลงดั้งเดิมที่ชาวตรอกจะนำมาขับร้องทุกครั้งที่มีการแสดง รำวงบ้านบาตรยุคใหม่เกิดจากการรวมตัวของคนในตรอก ทั้งคนเก่าคนก่อนที่เคยได้ยิน ได้เห็นความรุ่งเรืองของการละเล่นนี้ ไปจนถึงเด็กๆซึ่งเป็นลูกหลาน และอนาคตของชาวตรอกบ้านบาตร